Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เคล็ดลับในการพูดคุยกับครูของลูกเกี่ยวกับข้อกังวล

Posted By Plook TCAS | 25 ก.ค. 66
1,497 Views

  Favorite

         การศึกษาของลูกเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างมาก และเนื่องจากลูกยังเป็นเด็กเล็ก จึงมีความห่วงใยตามมาด้วย การพูดคุยกับครูของลูกเกี่ยวกับข้อกังวลจึงเป็นอีกหนึ่งทักษะที่สำคัญ ที่จะช่วยให้ลูกมีประสบการณ์ที่ดีที่โรงเรียน การจะเข้าถึงทักษะนี้ได้ มีเคล็ดลับที่ทำได้ไม่ยากเลยค่ะ

1. พูดคุยกับลูกของเราเพื่อรับรู้ข้อมูล

         เด็กเล็กบางคนช่างพูดช่างคุย ช่างเล่า กลับมาจากโรงเรียนมีเรื่องเล่ามากมายมาเล่าให้เราฟัง เราจะได้รับรู้ความเป็นไปที่โรงเรียนจากปากของลูกเอง แต่เด็กบางคนเงียบ ๆ เฉย ๆ เราต้องสังเกตพฤติกรรมของลูกแล้วค่อย ๆ ถามด้วยคำถามง่าย ๆ เช่น วันนี้คุณครูให้ทำอะไรบ้างที่โรงเรียน เล่นอะไรกันกับเพื่อน ๆ มีเพื่อนกี่คนแล้ว ลูกชอบเพื่อนคนไหนบ้าง สนุกไหมเมื่ออยู่ที่โรงเรียน ฯลฯ ลูกจะค่อย ๆ เล่า แล้วเราจับสังเกตจากคำพูดและการแสดงออกของลูก บางครั้งลูกอาจถูกเพื่อนบุลลี่ซึ่งทำให้ลูกไม่สบายใจ หรือการบ้านมากเกินไปยากเกินไป หรือเรียนไม่ทันเพื่อน ทำให้ลูกไม่อยากไปโรงเรียน เราก็พูดปลอบใจ ให้กำลังใจลูก และบอกวิธีการแก้ไข รวมทั้งประมวลข้อมูลไว้พูดคุยกับคุณครู และควรบอกให้ลูกรับรู้หากต้องพาลูกไปพบคุณครูเพื่อปรึกษาหารือ อธิบายให้ลูกเข้าใจและสบายใจว่านี่เป็นโอกาสดีที่เราจะได้แจ้งข้อกังวล ความคิดเห็น หรือความเป็นไปเกี่ยวกับชีวิตในโรงเรียนของลูก คุณครูจะได้ช่วยแก้ปัญหาให้ลูก เป็นการสร้างความมั่นใจให้เด็ก และสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างเด็ก ผู้ปกครอง และคุณครู  

2. การสื่อสารและรับฟังข้อมูลกับคุณครู

         หลายโรงเรียนมีไลน์กลุ่มคุณครูกับผู้ปกครอง คุณครูจะแจ้งกิจกรรมและการบ้านที่มอบหมายให้เด็กทำ เพื่อให้ผู้ปกครองได้รับทราบและดูแลเรื่องการทำการบ้าน เราควรขอทำไลน์เดี่ยวกับคุณครูหากพบว่าลูกของเรากำลังประสบปัญหา และเราต้องการคำแนะนำจากคุณครู หรืออาจโทรศัพท์ไปปรึกษากับคุณครูหากเป็นเรื่องละเอียดมากขึ้น หรือไปพบกับคุณครูที่โรงเรียน เราต้องเป็นผู้ฟังที่ดีไม่ว่าจะเป็นการคุยโทรศัพท์ธรรมดา ๆ หรือการประชุมผู้ปกครองกับครู เพราะการเรียนรู้วิธีสื่อสารข้อกังวลกับครูคือกุญแจสำคัญในการกำหนดเป้าหมายและทำความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น และเราสามารถติดตามการแก้ไขปัญหานั้น ๆ และดูแลพฤติกรรมของลูกเรา การเปิดใจรับฟังทุกเรื่องราวที่คุณครูและโรงเรียนแบ่งปัน เป็นการเติมเต็มช่องว่างในชีวิตประจำวันของลูกเรา

3. รักษาการสื่อสารในเชิงบวก

         คุณครูและผู้ปกครองเป็นบุคคลที่มีความสำคัญในชีวิตของเด็ก ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็ก ผู้ปกครอง และคุณครูจะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดีต่อการเรียนของเด็กและชีวิตของเด็กที่โรงเรียน ลดความกังวลของผู้ปกครอง และเพิ่มศักยภาพในการสอนของคุณครู ถึงแม้เราอยากปกป้องลูกของเรา แต่อย่าด่วนตำหนิเด็กนักเรียนคนอื่น คุณครู หรือโรงเรียน ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ขัดแย้งกันไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือการกระทำ ไม่ชัดเจนเรื่องใดก็ให้ถามด้วยท่าทีสงบนิ่งใจเย็น กลั่นกรองคำพูด บางครั้งเราอาจไม่รู้พฤติกรรมของลูกขณะอยู่ในห้องเรียนหรือที่โรงเรียน หรืออยากรู้ว่าวิชาใดที่ลูกยังอ่อนอยู่และต้องการการฝึกฝนเพิ่มเติม หรือเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อสนับสนุนลูกมากขึ้น ฉะนั้นจึงควรหาทางออกที่ดีร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ คือให้ลูกได้เรียนหนังสืออย่างมีความสุขที่โรงเรียนร่วมกับเพื่อน ๆ

4. ติดตามผลเมื่อพูดคุยกับคุณครูเกี่ยวกับข้อกังวลแล้ว

         เราเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดลูกมากที่สุดเมื่ออยู่ที่บ้าน และคุณครูเป็นผู้ที่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุดเมื่ออยู่ที่โรงเรียน เมื่อเราได้พูดคุยกับคุณครูแล้ว ควรมีการติดตามผลว่าข้อกังวลเหล่านั้นคลี่คลายไปได้เพียงใด ต้องมีการสร้างเสริมเพิ่มเติมอีกในส่วนใดบ้าง เราควรให้ความร่วมมือมากขึ้นอย่างไร และส่วนใดที่ยังต้องขอรับความช่วยเหลือหรือคำแนะนำจากคุณครูหรือโรงเรียน รวมทั้งให้เราดูการพัฒนาของลูกด้วย โดยตั้งเป้าหมายที่เป็นจริงและไม่สูงส่งเกินไป สามารถปฏิบัติให้สำเร็จได้โดยไม่ยาก ซึ่งจะเป็นการช่วยลูกปูทางสู่ความสำเร็จที่โรงเรียนได้

         หลังจากการพูดคุยกับคุณครูของลูกเกี่ยวกับข้อกังวล และมีการทำงานร่วมกัน สนับสนุนซึ่งกันและกันในการคลี่คลายและแก้ไขปัญหาด้วยความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน เอาใจเขามาใส่ใจเรา เพราะคุณครูเองก็ต้องดูแลเด็กนักเรียนตัวน้อย ๆ อีกหลายคน และผู้ปกครองของเด็กแต่ละคนอาจมีข้อกังวลเหมือนกับเราหรือต่างกับเราก็ได้ ทั้งนี้เพื่อให้ลูกเราเติบโตได้อย่างมีความสุข และมีพัฒนาการที่ดีขึ้นทั้งในเรื่องการเรียน สังคม อารมณ์ และจิตใจ มีทัศนคติที่ดีต่อโรงเรียน คุณครู และเพื่อนนักเรียน รักการเรียนและชีวิตในโรงเรียน มีประสบการณ์ที่สร้างสรรค์ เราเองก็สบายใจที่รู้ความต้องการเชิงบวกในการเรียนรู้ของลูก และมั่นใจที่ได้มาถูกทางเพื่อช่วยเหลือลูกในเส้นทางการศึกษา

 

ณัณท์

ข้อมูลอ้างอิง
Tips for How to Talk to Your Child’s Teacher about Concerns
https://www.lovetoknow.com/parenting/kids/how-talk-your-childs-teacher-about-concerns   

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow